Neapolitan Tailoring หรือสูทสไตล์ “นีอาโปลีตาน” ที่หลายคนเรียกกันจนติดปากว่าสูทสไตล์อิตาเลียนไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงคุณลักษณะสำคัญที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่านี่คือสูทนีอาโปลีตาน
สไตล์ของสูทนีอาโปลีตาน: The Appearance of Neapolitan Suit
เรามาเริ่มกันที่ส่วนโครงสร้างซึ่งเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดโดยไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เอกลักษณ์ตรงจุดนี้คือคำว่า “Soft-Tailoring” ลักษณะการตัดเย็บแบบนี้จะมีแค่ผ้าแคนวาส ผ้าสำหรับเนื้อสูทไม่ว่าจะเป็นวูล ลินิน และอื่นๆ ตามการเลือกสรร และอาจจะมี Wading บางๆ สำหรับหัวแขน ซึ่งจุดเด่นดังกล่าวทำให้สูทสไตล์นี้แตกต่างจากสูทสไตล์อังกฤษที่เนี้ยบหมดจดด้วยการใส่ Padding เสริมโครงสร้างเพื่อทำให้สูทเรียบไร้ที่ติแต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสวมใส่ที่ไม่สบายเท่าไหร่ ซึ่งโครงสร้างสูทแบบนีอาโปลีตานจะไม่ใส่ส่วนนี้ (Padding) เท่ากับสูทฝั่งเกาะอังกฤษ โดยการปรับเปลี่ยนส่วนนี้ของสูททำให้รูปลักษณ์ของสูทเพรียวตามแนวไหล่ลู่ลงตามธรรมชาติของหัวไหล่และแขน เพราะฉะนั้นทรงหัวแขนก็จะไม่เป็นเหลี่ยมเป็นสันเท่ากับสูทสไตล์อังกฤษนั่นเอง นอกจากนี้ ความเบาสบายของแจ๊คเก็ตที่เปรียบเสมือนเพียงใส่แค่เสื้อเชิ้ตทับไปอีกครั้ง ซึ่งทำให้หลาย ๆ คน รวมถึง Decorum Tribune ที่หลงรักในสไตล์สูทแบบนี้ด้วย

กายวิภาคของสูทนีอาโปลีตาน (Neapolitan Tailoring Anatomy)
จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งของสูทสไตล์นีอาโปลีตานนี้คือ “Drape Cut” ซึ่งมีลักษณะเกือบคล้ายเสื้อสูททรงลำลองหรือ Relax Fit ที่เราคุ้นหู โดยการตัดเย็บแบบนี้จะทำให้ช่วงอกมีลักษณะใหญ่และกว้างขึ้นสะท้อนกลิ่นอายแมสคิวลีนได้อย่างดี และข้อสำคัญด้านฟังก์ชั่นการใช้งานคือการตัดเย็บแบบนี้จะมีผ้าเหลืออยู่เล็กน้อยเพื่อให้ผู้สวมใส่ขยับเขยื้อนตัวได้อย่างอิสระและสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้เรายังสามารถแยกจุดเด่นสำคัญของสูทสไตล์อิตาเลียนออกมาเป็นจุดๆ ได้ถึง 10 จุด ตามด้านล่างนี้เลยครับ
1. Shoulders หรือ ช่วงหัวแขนและไหล่
จุดนี้มีรายละเอียดย่อยๆ ลงไปอีกหลายจุดแต่เอกลักษณ์เด่นชัดที่สุดคือ เรื่อง Padding หัวไหล่ของสูทนีอาโปลีตาน ซึ่งส่วนมากใช้ Padding น้อยมากหรือแทบไม่ใช้เลย แต่ยังคงมี Wadding หรือเศษผ้าที่ไว้สำหรับประกอบหัวแขนเข้ากับตัวแจ๊คเก็ต
โดยลักษณะหัวแขนของแจ๊กเก็ตแบบอิตาเลียนจะมีหลักๆ ทั้งหมด 3 แบบ คือ Spalla Camicia หรือ Shirt Shoulders, Con Rollino หรือ Roped Shoulders และ Open Seam จริงๆ แล้วลักษณะของหัวแขนไม่มีกฎกำหนดเฉพาะตายตัวขนาดนั้นครับ ส่วนมากเป็นความนิยมของชาวอิตาเลียนที่มักเลือกลักษณะให้สอดคล้องกับความต้องการตามวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการสูทหรือแจ๊กเก็ตออกแนวลำลองเป็น Sport Jacket ก็จะเลือกเป็นหัวแขนแบบ Shirt Shoulders แต่ถ้าอยากให้ทางการขึ้นก็จะเปลี่ยนเป็น Roped Shoulders ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเรื่องของรสนิยมและเป้าประสงค์ในการใช้งานส่วนตัวด้วยนะครับว่าคุณผู้อ่านจะเลือกแบบใด ซึ่งเราจะมาอธิบายความแตกต่างของหัวแขนแต่ละแบบกันต่อด้านล่างนี้ครับ
Spalla Camicia หรือ Shirt Shoulders นั้นมีเอกลักษณ์เด่นคือลักษณะริ้วเหมือนลายน้ำตกบริเวณช่วงแขนที่เรียกว่า “Grinze” ในภาษาอิตาเลียน นี่คืออีกหนึ่งรูปแบบความสวยงามของผู้หลงรักสูท โดยช่วงไหล่อันโดดเด่นนี้ถูกเรียกว่า Shirt Shoulders เนื่องจากการเย็บหัวแขนเหมือนการทำเสื้อเชิ้ต วิธีการคือช่างตัดเย็บจะนำส่วน Seam Allowance ของแขนเสื้อใส่เข้าในช่วงวงแขนของแจ๊กเก็ตทำให้หัวแขนเหมือนสอดเข้าใต้ช่วงไหล่ ซึ่งทำให้เกิดริ้วและช่วงบ่ากับหัวแขนเป็นเหมือนการตัดเย็บชิ้นเดียวกัน ด้วยรายละเอียดหัวแขนทั้งหมดทำให้แจ๊กเก็ตแบบนี้ดูลำลองที่สุดครับ

ไหล่แบบ Con Rollino หรือ Roped Shoulders นั้นเพิ่มความทางการให้กับเสื้อสูทขึ้นมาอีกนิดด้วยการเพิ่มเนินขึ้นมาตรงช่วงปลายหัวแขนให้เหมือน “Puff” หรือลักษณะแขนเสื้อที่พองบวมขึ้นมา จุดเด่นคือ รูปลักษณ์ที่ดูทางการขึ้นและยิ่งเสริมให้ดูหรูหราขึ้นอีกด้วยครับ โดยความพิเศษเหล่านี้เกิดจากวิธีการตัดเย็บที่แตกต่างกับหัวแขนเสื้อเชิ้ต ช่างจะทำการเย็บส่วนหัวแขนให้ Seam Allowance หรือเนื้อผ้าส่วนเผื่อสำหรับการตัดเย็บสอดเข้าไปใต้ส่วนหัวแขนของแขนเสื้อซึ่งจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าพัฟขึ้นมา และใช้ Wadding หลายชั้นเพื่อไม่ให้เกิดริ้วตรงหัวแขน ซึ่งต่างจากการทำหัวแขนแบบ Spalla Camicia ใครนึกภาพไม่ออกลองชมภาพแล้วจะเห็นว่าเหมือนปลายช่วงไหล่ของเสื้อนั้นสอดอยู่ใต้ช่วงปลายส่วนบนของแขนเสื้อนั่นเองครับ
ปิดท้ายด้วย ไหล่แบบ Open Seam ซึ่งหัวแขนแบบนี้จะดูเป็นธรรมชาติที่สุดในบรรดาทุกแบบ นั่นก็เพราะช่างนำ Seam Allowance ของทั้งแขนเสื้อและตัวเสื้อ (บริเวณบ่าและไหล่) มาประกบกันและทำการเข้าแขนซึ่งจะมีความเป็น “Natural Shoulders” หรือช่วงไหล่ที่ดูเหมือนผิวหนังชั้นที่ 2 ของท่านสุภาพบุรุษกันเลยทีเดียวครับ จุดเด่นสำคัญคือนอกจากจะดูเป็นธรรมชาติแล้ว คือการเย็บแบบนี้จะไม่ทำให้เกิดรอยหยักมากเท่า Shirt Shoulders และไม่ดูนูนขึ้นแบบ Roped Shoulders ซึ่งหัวแขนแบบธรรมชาตินี้เป็นสไตล์ที่ช่างสูทชาวอิตาเลียนส่วนมากนิยมใช้กันที่สุด ห้องเสื้อชื่อดังอย่าง Liverano & Liverano เองก็ทำวงแขน Open Seam แบบนี้ครับ
ทั้งนี้ หากสูทเป็นแบบดั่งเดิมหรือ Bespoke การเข้าหัวแขนของแจ๊คเก็ตจะทำด้วยมือ ซึ่งผลที่ได้คือการเคลื่อนไหวที่สบายกว่ามี Flexibility เมื่อเทียบกับสูทที่ทำด้วยเครื่องจักร สำหรับกระบวนการทำสูทนั้นการเข้าหัวแขนนี้ถือว่าเป็นกระบวนการที่ทำยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว
2. Gorge Line
Gorge Line คือจุดเชื่อมต่อระหว่างส่วน Lapel และ Collar ซึ่งจุดนี้เองเป็นจุดดึงดูดสายตาเวลามองเสื้อสูทที่สำคัญ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสูทสไตล์นีอาโปลีตานนี้มีส่วน Gorge Line ที่สูงกว่าสูทสไตล์อื่นๆ เอกลักษณ์ของห้องเสื้อบางแห่งอาจสูงถึงระดับหัวไหล่ ซึ่งจุด Gorge Line นี้เป็นจุดแรกๆ ในการดึงความสนใจเมื่อคนมองสูท ก็เพราะเราสามารถเห็นเอกลักษณ์จุดนี้ได้อย่างชัดเจน และลูกเล่นบริเวณ Gorge Line ก็สามารถช่วยเพิ่มมิติสายตาให้ช่วงตัวดูยาวขึ้นด้วยครับ
3. Lapel
Lapel หรือส่วนของปก ซึ่งแบ่งโดยลักษณะได้ทั้ง ปกป้าน (Notch Lapel) สำหรับสูท Single Breasted และปกแหลม (Peak Lapel) สำหรับสูท Double Breasted แต่เอกลักษณ์ของสูทสไตล์นีอาโปลีตานนั้นไม่ใช่แค่รูปทรงแต่ขนาดของปกที่ค่อนข้างใหญ่กว่าสูทสไตล์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแมสคิวลีนให้กับผู้สวมใส่ โดยมาทดแทนด้วยรูปทรงที่ดูผ่อนคลายลง ไม่มีเหลี่ยมโครงเท่าเสื้อสูทสไตล์อังกฤษ และเส้นมนโค้งในมุมของขอบปกซึ่งสะท้อนถึงงานฝีมือที่เครื่องจักรไม่สามารถทำได้
4. Sleeve Buttons หรือ กระดุมแขนเสื้อ
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยสูทแบบนีอาโปลีตานแบบดั้งเดิมนั้นช่วงแขนจะมีกระดุมเพียงเม็ดเดียวเท่านั้น แต่สมัยนี้มีการปรับเปลี่ยนการเย็บกระดุมใหม่ เท่าที่เห็นหลักๆ คือกระดุมจำนวน 3-4 เม็ดเรียงรายอยู่ที่ปลายแขนเสื้อซึ่งส่วนมากเป็นการตัดเย็บแบบ “Surgeon Cuff” ที่สามารถกลัดหรือปลดกระดุมได้อย่างอิสระ แตกต่างจากสูททั่วไปที่กระดุมแขนเสื้อมักทำมาเพื่อตกแต่งให้สวยงามเท่านั้น
5. 3 Roll 2 Buttoning รูปแบบกระดุม 3 เม็ดที่มีไว้เพื่อติดแบบ 2 เม็ด
อีกจุดเด่นนึงของสูทสไตล์นี้ คือการทำกระดุมสูทแบบ 3 เม็ด แต่จริงๆ แล้วออกแบบมาให้ติดเพียงแค่เม็ดกลางเท่านั้น สรุปง่ายๆ คือ Buttoning Point หรือจุดกลัดจะอยู่ระดับเดียวกันกับสูทกระดุม 2 เม็ดทั่วไป

6. Button Holes หรือ รังดุมของปก
รายละเอียดส่วนนี้เป็นรายละเอียดส่วนเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม พอพูดคำว่าสูทอิตาเลียนคนอาจจะนึกว่าช่องกลัดกระดุมหรือรังดุมนั้นคนจะคิดว่าต้องเป็นแบบ “Milanese” แต่ความจริงรังดุมปกของสูทสไตล์นี้เป็นแบบธรรมดา แต่ทั้งนี้จะมีความหนามากกว่าและสั้นกว่า รังดุมแบบของอังกฤษครับ
7. Dart หรือ เกล็ด
เราจะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าแจ๊กเก็ตสไตล์นีอาโปลีตานจะมีการตีเกล็ดหรือสาบด้านหน้ายาวไล่ลงมาเพื่อให้เกิดรูปทรงอันสมดุลสำหรับช่วงอกของผู้สวมใส่โดยเฉพาะ เอกลักษณ์แบบนี้จะเห็นชัดเจนมากบริเวณด้านหน้าของเสื้อทั้งฝั่งซ้ายและขวาโดยเฉพาะสูทแบบฉบับดั้งเดิม บางทีเราอาจจะเห็นการตีเกล็ดยาวจนถึงปลายของชายแจ๊กเก็ตเลยทีเดียว
8. Canvas ผ้าสำหรับโครงสร้างด้านใน
ต้องบอกว่าคำว่า “Soft-Tailoring” ไม่ได้หมายถึงลุคที่ดูสบายอย่างเดียว แต่หมายถึงภายในตัวแจ๊กเก็ตจะใช้วัสดุแคนวาสจำพวก Haircloth เพื่อรักษาโครงเสื้อแจ๊กเก็ตเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับซับในหนาๆ ที่เคยเห็นจากสูทหลายแบบ นั่นคือ Domette นะครับ วัสดุ Domette จะเป็นชิ้นผ้าหนาๆ ที่ทำหน้าที่รักษาสภาพโครงเสื้อให้อยู่ทรงแข็งแรงแต่ข้อเสียหลักคือจะทำให้แจ๊กเก็ตมีน้ำหนักมากและผู้สวมใส่ร้อนนั่นเองครับ The Decorum Tribune มองว่า การทำแจ๊คเก็ตสไตล์นี้เป็นการสะท้อนถึงคุณลักษณะของผ้าที่เราเลือกมาจริงๆ เพราะมีเพียงแค่ Canvas กับผ้าที่เราเลือกเท่านั้น ไม่มีการใช้ผ้ากาวหรือผ้าสังเคราะห์อื่นๆ เข้ามาขั้นกลาง ดังนั้น หากเราเลือกผ้าที่บางๆ มีช่องให้อากาศทะลุ สไตล์การทำสูทแบบ Neapolitan ก็แสดงถึงคุณลักษณะของผ้าเราได้มากจริงๆ ซึ่งบางที The Decorum Tribune สังเกตว่า หลายๆ คนเลือกผ้าที่ราคาสูง แต่กลับถูกตัดเย็บด้วยกรรมวิธีการทำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งน่าเสียดายครับ

9. Drape Cut
หลังจากเราเกริ่นไปพอสมควรในช่วงต้นเกี่ยวกับ Drape Cut เราจะมาย้ำถึงเรื่องนี้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลผลิตด้านเสื้อผ้าของชาวอิตาเลียนแตกต่างจากฝีมือของชาวอังกฤษกันอีกครั้ง Drape Cut คือการสร้างโวลุ่มให้ช่วงอกของเหล่าสุภาพบุรุษโดยการตัดเย็บช่วงอกให้ขยายใหญ่เพิ่มความแข็งแรงแบบผู้ชายในอุมดคติและมีผ้าเหลือสำหรับขยับเขยื้อนตัวที่สบายมากขึ้น เมื่อมองกลับไปหาสูทแบบอังกฤษจะเห็นว่าส่วนหน้าอกจะแนบชิดติดกับเจ้าของเสื้อ จะไม่มีที่ว่างสำหรับเคลื่อนไหวได้อิสระเท่านี้ จุดนี้จึงเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสูทสไตล์นีอาโปลีตานครับ
10. Jetted Pocket vs Patch Pockets
ตามรูป แจ๊คเก็ตสไตล์อิตาลีนั้นจะไม่นิยมทำแบบฝากปิด โดยส่วนมากถ้าเป็นสูทหรือแจ๊คเก็ตที่เป็นทางการขึ้นมาจะนิยมจะทำกระเป๋าแบบ Jetted Pocket คือเป็นเส้นเดียวครับ ส่วนกระเป๋าอีกแบบเรียกว่าสไตล์ Patch Pocket โดยมีรูปทรงเหมือนแก้วไวน์ซึ่งกระเป๋าแนวนี้เหมาะกับแจ๊คเก็ตที่ต้องการความ Casual โดยจะไม่นิยมนำมาตัดเป็นแจ๊คเก็ตคู่กับสูท
11. กระเป๋าอกแบบโค้ง Barchetta Pocket
กระเป๋าอกของสูทสไตล์ Neapolitan จะนิยมทำรูปแบบโค้งเหมือนท้องเรือ โดยจะเรียกว่า Barchetta Pocket
Our Thoughts
เรื่องรายละเอียดของเสื้อสูทแบบนีอาโปลีตานไม่ได้เป็นเรื่องเก่าและใหม่จนเกินไป แต่เป็นข้อมูลเหล่านี้จะอยู่เป็นหลักในการศึกษาเครื่องแต่งกายของสุภาพบุรุษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคตเรื่อยไป ต่อไป ก็จะพิจารณาได้ว่า สไตล์สูทที่เราชอบนั้นเป็นแบบไหน มีความพิเศษแตกต่างจากสูทแบบอื่นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ไปหาช่างสูทชำนาญในสไตล์นั้นๆ ได้ เราอยากจะปรับทัศนะคติของทุกคนว่า ช่างแต่ละคนก็มีความถนัดในแต่ละแบบ คงจะเป็นการยากหากจะให้ช่างที่ตัดแนวอังกฤษมาตัดสูทแนวอิตาลี หรือแนวอิตาลีมาตัดแนวอังกฤษ คอยติดตามความรู้ที่น่าสนใจกับเสื้อผ้า Classic กับ The Decorum Tribune ได้ในตอนหน้า แล้วพบกันครับ