• Free worldwide shipping on order over ฿20,000 with code: 20KFREESHIP

6×1 รูปแบบของ Double-Breasted Jacket ที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดที่สุดแบบหนึ่งในประวัติศาสตร์

สำหรับคอแฟชั่นสายคลาสสิกทุกคนคงคุ้นเคยกับการสวมสูทแพตเทิร์นหลากหลายรูปแบบกันเป็นอย่างดีใช่ไหมล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็น Single-Breasted, Double-Breasted หรือแม้แต่การเลเยอร์แบบ 3-Pieces Suit ทว่ารายละเอียดของเสื้อแจ็กเก็ตแต่ละประเภทก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันครับ วันนี้ The Decorum ของเราจะพาไปท่องโลกแห่ง Double-Breasted ที่มีแพตเทิร์นให้เลือกสรรค่อนข้างน่าสนใจ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนแฟชั่นสไตล์ซาร์ทอเรียลให้มีลูกเล่นและแสดงรูปแบบแฟชั่นที่น่าสนใจขึ้นอีกด้วยรายละเอียดกระดุมครับ

FINDING NEW WAY TO WEAR JACKET

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าแพตเทิร์นสไตล์ Double-Breasted ได้รับความนิยมและเป็นอมตะเหนือกาลเวลา การปรับแต่งเสื้อโค้ตทหารเรือและลดทอนรายละเอียดจนกลายเป็นแจ็กเก็ตกระดุม 2 แถวนั้นคือการเปลี่ยนแปลงที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแฟชั่นคลาสสิกตลอดกาล ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สูทแพตเทิร์นกระดุม 2 แถวกำลังเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง เสื้อที่เคยถูกออกแบบเป็นเครื่องแบบเฉพาะถูกปรับเปลี่ยนรายละเอียดจนกลายเป็นชุดสูททางเลือกสำหรับสุภาพบุรุษ สามารถสวมใส่ได้หลากหลายตั้งแต่สไตล์ลำลอง กึ่งทางการ เรื่อยไปจนถึงทางเลือกสำหรับงานทางการเลยทีเดียวครับ

ทว่าการเปลี่ยนแปลงยุคเริ่มแรกย่อมต้องมีการทดลองเกิดขึ้นเป็นธรรมดาครับ ดังนั้นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ดูเหมือนว่าแฟชั่นจะมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนเพื่อค้นหาวิถีใหม่ๆ ในการสร้างสไตล์ แจ็กเก็ตกระดุม 2 แถวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเฟ้นหานี้ด้วยเช่นกันครับ ชื่อของ Edward VIII ถูกพูดถึงอย่างหนาหูกับวิธีการสวมแจ็กเก็ตกระดุม 2 แถวด้วยการกลัดกระดุมเม็ดล่าง ซึ่งพระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลใจจาก Duke of Kent ณ เวลานั้น จนต่อมาพระองค์ก็ทรงสวมแจ็กเก็ตแพตเทิร์น 6×1 หรือกลัดกระดุมเม็ดล่างเพียงเม็ดเดียวจากทั้งหมด 6 เม็ดนั่นเองครับ โดยการสวมแจ็กเก็ตแบบนี้เริ่มได้ความสนใจจากมิติความสวยงามอันแปลกใหม่ ทว่ารายละเอียดของเสื้อผ้าก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะแนวกระดุม ความยาว และองค์ประกอบอื่นๆ ยังถูกตัดเย็บออกมาสำหรับการสวมแบบ 6×2 ตามเดิมครับ

ALONG WITH EVOLUTION

หลักการพัฒนาที่จะทำให้สิ่งหนึ่งคงอยู่เป็นอมตะหรือได้รับความนิยมชนิดเต็มศักยภาพคงต้องอาศัยจังหวะเวลาที่พอเหมาะพอดีด้วย เทรนด์แฟชั่นตั้งแต่ช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมามีการปรับเปลี่ยนซิลูเอตของสูทซึ่งส่งผลจนถึงปัจจุบันครับ โดยสมัยดั้งเดิมสูทจะมีความยาวค่อนข้างมาก บริเวณปลายสูทหรือที่เรียกกันว่า “Skirt” มักทอดยาวเสริมพื้นที่เนื้อผ้าอย่างเห็นได้ชัด ทว่าการพัฒนาเรื่องเทรนด์เกิดขึ้น สูทถูกออกแบบมาให้สั้นลง กระดุมถูกขยับขึ้นจากแนวเอวปกติเล็กน้อย ส่งผลให้วิธีการกลัดกระดุมแบบ 6×1 นั้นสร้างมิติที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเริ่มมีห้องเสื้อออกแบบแพตเทิร์นสไตล์นี้โดยเฉพาะมากขึ้นอีกด้วยครับ

เดิมทีการกลัดกระดุมแบบ 6×1 มีปัญหามากกับความยาวและตำแหน่งการวางไลน์กระดุมแบบเดิม เพราะการกลัดกระดุมเม็ดล่างจะทำให้สูทเผยอเล็กน้อย อีกทั้งยังเผยส่วนของเสื้อเชิ้ตและเนกไทที่ไม่สมส่วน กลายเป็นว่าสูทสวยงามถูกลดทอนความเนี้ยบประณีตและดูไม่ค่อยละเอียดลออเท่าไหร่นั่นเองครับ การพัฒนาไลน์กระดุมและความยาวตามยุคใหม่(ณ ตอนนั้น) จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สไตล์การกลัดกระดุมสไตล์นี้ลงตัว สามารถสร้างสัดส่วนรูปตัววีของสูท การทอดยาวของปกอย่างสวยงามพอเหมาะ สร้างมนต์เสน่ห์ของสูทยุคใหม่ให้ดูพลิ้วไหวไม่แข็งเป็นโครง นับว่าเป็นการนำแพตเทิร์นดั้งเดิมมาสรรสร้างจนเกิดชั้นเชิงด้านแฟชั่นในแวดวงแฟชั่นสุภาพบุรุษขึ้นอย่างชัดเจน

KEY INFLUENCERS

นอกจาก Edward VIII ที่เราได้กล่าวถึงก่อนหน้าแล้ว เหล่าสไตล์ไอคอนจำนวนไม่น้อยก็สวมใส่สูทแพตเทิร์นเหล่านี้เช่นกันครับ ยกตัวอย่างเช่น Gianni Agnelli ไอคอนสไตล์ซาร์ทอเรียลที่ชอบตีความและค้นหาวิถีการสวมใส่เสื้อผ้าอย่างมีเอกลักษณ์ Fred Astaire สุภาพบุรุษคนดังที่สามารถรื้อและประกอบสร้างองค์ประกอบของแฟชั่นสไตล์ดั้งเดิมให้มีมิติน่าสนใจมากขึ้น และอีกหลายต่อหลายคนที่หยิบจับแพตเทิร์นแจ็กเก็ต 6×1 มาสะท้อนตัวตนความเป็นปัจเจกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังเปิดเส้นทางสายแฟชั่นแบบใหม่ผสมผสานกับความคลาสสิกได้อย่างลงตัวครับ

เมื่อพูดถึงเหล่าผู้มีอิทธิพลในการสร้างสไตล์เหล่านี้ก็พลาดที่จะพูดถึงห้องเสื้อสำคัญที่ยังคงรักษามาตรฐานการสร้างสรรค์สูทคุณภาพสูงไปไม่ได้ครับ Ralph Lauren และ Giorgio Armani คือแบรนด์คาบเกี่ยวกับเส้นทางเมนสตรีมที่สามารถหยิบจับรายละเอียดตรงนี้มาสรรสร้างสูทที่โดดเด่นด้วยไลน์กระดุมแบบนี้ได้ ทว่าช่วงหลังครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก็ดูเหมือนสูทสไตล์นี้จะเสื่อมความนิยมลงไป เหลือเพียงยุค ‘80s ของ Armani ที่สลับสับเปลี่ยนแพตเทิร์นสูทเหล่านี้มานำเสนอบ้าง ปัจจุบันแจ็กเก็ต 6×1 หายากขึ้นทุกที มีเพียงห้องเสื้อไม่มากนักที่ยังขึ้นชื่อเรื่องนี้อยู่ ซึ่ง Rubinacci จากเมืองเนเปิลส์ คือห้องเสื้อระดับตำนานที่ยังคงสรรสร้างผลงานชั้นครูอยู่เสมอ หรือหันมามองฝั่งเอเชีย Assisi Bespoke จากเกาหลีก็สามารถพัฒนาแพตเทิร์นอันมีเอกลักษณ์ของตัวเองและนำเสนอแจ็กเก็ต 6×1 ที่โดดเด่นได้เช่นกัน สังเกตจากสูทตัวโปรดของ Kim Minsoo ที่พาสุภาพบุรุษย้อนความหลังสู่แพตเทิร์นที่โดดเด่นสะกดตาอีกครั้ง นอกจากนี้บางห้องเสื้อยังเริ่มพัฒนาแพตเทิร์น 4×1 เพื่อเพิ่มความหลากหลายปรับซิลูเอตให้น่าสนใจในอีกรูปแบบหนึ่ง ใครยังไม่เคยลองแจ็กเก็ตที่มีแพตเทิร์นไลน์กระดุมแบบนี้ เราแนะนำว่าไม่ควรพลาดเลยครับ รับรองว่าจะรู้สึกแตกต่างและไม่ผิดหวังแน่นอน

หากใครสนใจเกี่ยวกับแฟชั่นของสุภาพบุรุษฉบับคลาสสิกแบบนี้ สามารถติดต่อสอบถามกับเราได้ผ่านทุกช่องทางครับ อย่าลืมติดตามความรู้ที่น่าสนใจจากหัวใจเหล่าสุภาพบุรุษกับ The Decorum Tribune เพิ่มเติมได้ในตอนหน้า แล้วพบกันครับ