YASUTO KAMOSHITA: BLENDING THE OLD AND THE NEW
หลายคนเมื่อพูดถึง “แฟชั่นไอคอน” มักนึกถึงสุภาพบุรุษมาดเนี้ยบใส่สูท แต่งกายด้วยแฟชั่นที่อินเทรนด์ที่สุด และล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้นๆ ของชาวตะวันตก แต่จริงๆ แล้วแฟชั่นไอคอนหรือสไตล์ไอคอนนั้นไม่ได้กำหนดสถานะด้านเชื้อชาติสัญชาติว่าต้องเป็นเหล่าบุรุษยุโรปหรืออเมริกันเสมอไป เพราะไม่ว่าชาติไหนก็สามารถเป็นที่จดจำได้ในฐานะผู้นำสร้างแรงบันดาลใจในด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่แฟชั่น เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมานำเสนอแฟชั่นไอคอนหนุ่มสัญชาติญี่ปุ่น ตัวแทนของฝั่งเอเชียที่รังสรรค์บรรทัดฐานแฟชั่นที่โดดเด่นจนกลายเป็นหนึ่งในไอคอนระดับตำนานที่สุภาพบุรุษสายซอร์ทอเรียลต้องเคยผ่านตาและสัมผัสถึงเซนส์แฟชั่นแบบไม่ธรรมดา

Yasuto Kamoshita คือสุภาพบุรุษต้นเรื่องของเราในวันนี้ ตอนนี้เขารับบทเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ควบกับฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ United Arrows ก่อนหน้านั้นเขามีประสบการณ์อย่างหนาแน่นในแวดวงแฟชั่นบุรุษ ทำงานให้กับแบรนด์ดังในตำแหน่งเซลล์และผู้จัดซื้อของหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “Buyer” จุดเริ่มต้นของเขาไม่ได้หวือหวาดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมาเหมือนแฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์ยุคใหม่ แต่เขาค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์และรสนิยมด้านแฟชั่นจากที่ต่างๆ มาผสมเข้ากับตัวตนคนญี่ปุ่นของตัวเองจนเกิดเป็นสไตล์ที่อยู่ในทุกหน้าค้นหาเรื่องการแต่งกายของสุภาพบุรุษ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นเหตุหลักที่เรานำเสนอความน่าสนใจของ Kamoshita ให้กับทุกท่านได้สัมผัสกันครับ

Open-Minded & Balance are key
“มันง่ายนักที่จะพูดว่าอะไรใส่กับอะไรแล้วดี แต่มันยากที่จะหาจุดพอดีกับความเป็นตัวเรา” คำพูดนี้ฟังดูอาจจะสวยหรูซับซ้อน แต่เชื่อไหมครับว่า Kamoshita ทำให้ง่ายเหมือนปอกกล้วย ย้อนกลับไปยุค ‘60s คนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลการแต่งตัวมาจากฝั่งอเมริกันอย่างมาก กางเกงชิโน รองเท้าโลฟเฟอร์ และรายละเอียดอื่นๆ ซึมเข้าสู่วัฒนธรรมแฟชั่นของชนชาติญี่ปุ่นจนกลายเป็นความปกติในสังคมเรียบร้อยแล้ว สไตล์ Ivy League (นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 แห่งในประเทศอเมริกา) แทรกซึมอยู่ทั่วไป แต่อย่างที่ทราบกันว่าแฟชั่นแท้ๆ แบบไม่มีการปรับแต่งอาจไม่เข้ากับรสนิยม รูปร่าง หรือแม้กระทั่งสภาพสังคม การรับมาจึงไม่ใช่แค่การเลียนแบบแต่หนุ่มญี่ปุ่นคนนี้เลือกปรับและสร้างความโดดเด่นเรื่องสไตล์ด้วยตัวตนของตัวเอง
“ความเปิดกว้างสร้างตัวตนให้ Kamoshita มั่นคงและไหลลื่นไปตามยุคสมัย” เราเห็นเขารับวัฒนธรรมมาอย่างเต็มที่ แต่เขาไม่ยึดติดวิธีการหรือวิถีของขนบธรรมเนียมแบบใดแบบหนึ่งจนเกินพอดี ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้แต่เขารู้ชัดเจนเลยล่ะครับว่าต้นตอเป็นอย่างไร อย่างเช่นตัวอย่างบทสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงสไตล์ Ivy League ว่า “มันสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างมาก มันเป็นเหมือนจิตวิญญาณเลยล่ะ แต่สไตล์นี้ก็ทำให้คิดยึดติดและอยู่กันแต่ในกรอบจนเกินไป ดูตัวอย่างเช่นการไม่สวมยีนส์สีน้ำเงินหรือรองเท้าคอนเวิร์ส ต้องสวมแต่รองเท้า Sperry กับยีนส์สีขาวเท่านั้น” พร้อมทั้งเสริมด้วยว่า “สิ่งนี้เข้มงวดเกินไป ใส่เสื้อยืดในเสื้อเชิ้ตก็ไม่ได้ มันไม่เท่เอาซะเลย” ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นปฏิปักษ์แต่แท้จริงแล้วเขานับถือและรักสไตล์นี้มากจริงๆ มากจนรู้รายละเอียดวิถีปฏิบัติของ Ivy League อย่างครบถ้วน บุรุษผู้นี้จึงตรงกับคติแฟชั่นอันโด่งดังว่า “จะรื้อและประกอบสร้างใหม่ ต้องรู้จักการประกอบสร้างเดิมให้ถ่องแท้เสียก่อน” มากๆ เลยล่ะครับ
การเปิดกว้างนี้ทำให้เขายิ่งทวีความน่าสนใจ…หลังออกจากแบรนด์ Beams เมื่อปี 1989 เขาเริ่มก่อตั้ง United Arrows กับเพื่อนอีก 2 คนทั้ง Hirofumi Kurino และ Osamu Shigematsu เขาระบุว่าชื่อแบรนด์เหมือนการรวมเป้าหมายและความสวยงามจากหลายมุมมอง เปรียบดั่งลูกศรที่ผูกติดและพุ่งหาเป้าหมาย นอกจากนี้เขายังมีไลน์ Camoshita เป็นของตัวเองอีกด้วย โดยเขาก็เล่นคำอีกโดยเปลี่ยนนามสกุลตัวเองให้เป็นตัว “C” เพื่อให้ดูเป็นอิตาเลียนเหมาะกับความอินเตอร์มากขึ้นเพราะตัว “K” สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นเกินไป เรื่องยิบๆ ย่อยๆ เขาใส่ใจเสมอ ก็ไม่ต้องแปลกใจกันนะครับถ้าลุคของ Kamoshita จะทำให้เราเห็นรายละเอียดการผสมผสานทุกอย่างจนกลมกล่อม เพราะเขาไม่เคยพลาดแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

Don’t be afraid of new style dimensions
“จงอย่ายึดติดตัวเองกับกฎแฟชั่นบุรุษ พยายามเปิดรับสิ่งสวยงามอื่นๆ ในชีวิต อยากรู้อยากเห็นเสมอ ไปให้ไกลและเก็บเกี่ยวความรู้จากทุกๆ แหล่ง” Kamoshita ให้ข้อคิดสำหรับการแต่งกายว่าต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ถึงแม้เราจะเห็นเขาสวมสูทเป็นประจำแต่เขาไม่ทำให้การสวมสูทน่าเบื่อ เขาเลือกทวิสต์ลุคให้สนุกอยู่เสมอและที่สำคัญตามกาลเทศะ เราจะไม่เห็นเขาผิดเดรสโค้ดหากมีระบุไว้ชัดเจน แต่สำหรับแจ๊คเก็ตและกางเกงสำหรับสวมเข้ากันในลุคธุรกิจเขาก็ไม่พลาดจะเพิ่มเติมความสนุกด้วยสีสัน ลวดลาย และแอ็กเซสเซอรี่ชิ้นโปรด ไม่จำเป็นต้องเป็นเนกไทอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงผ้าพันคอ เสื้อตัวใน และอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถปรับเข้ากับชุดสูทได้
ตัวตนคนญี่ปุ่นไม่ได้ถูกสะท้อนออกมาแค่เรื่องความประณีตในการตัดเย็บสูทเท่านั้น แต่สะท้อนออกมาทางสี เนื้อผ้า รูปทรง และความสมดุลของการผสมผสานวัฒนธรรม แน่นอนว่าชุดสูทเป็นการแต่งกายของชาวตะวันตก แต่เมื่อ Kamoshita ปรับเข้ากับตนเองเราจะเห็นได้ทันทีว่าตัวเลือกสีของเขาโดดเด่นมาก สีฟ้านวล สีอิงลิชมัสตาร์ด สีกรมท่าเฉดพิเศษ และอีกหลากหลายสี ผสมเข้ากับรูปร่างคนเอเชีย เขาปรับสัดส่วนของชุดให้กับซิลูเอตคนญี่ปุ่นได้น่าสนใจมาก แขนเสื้อสูทที่สั้นลงเพื่อความพอดีกับรูปร่าง กางเกงเอวไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปทำให้เรียวขาที่ไม่ได้ยาวเท่าฝั่งยุโรปนักดูมีมิติไม่ตัน ลวดลายทั้งลายขวางและลายตารางก็ยิ่งทำให้ลุคดูสนุกขึ้นอีกระดับ ยิ่งเพิ่มรองเท้าโลเฟอ์หรือรองเท้าหนังผูกเชือกไม่ว่าจะเป็นดาร์บี้หรืออ็อกซ์ฟอร์ดสักคู่เราจะเห็นความสมบูรณ์แบบของบุรุษญี่ปุ่นผู้นี้อยู่ตรงหน้า

It’s not just about (classic) suits
กฎระเบียบสร้างบรรทัดฐานให้คนได้เรียนรู้แต่ Kamoshita เรียนรู้และปรับต่อให้แฟชั่นของตัวเองไม่หยุดนิ่ง เราอาจเคยได้ยินกฎของการสวมสูทว่า “กระดุมเม็ดล่างคือสิ่งต้องห้าม” แต่ไม่ใช่กับเขาคนนี้ เพราะเขาเลือกกลัดกระดุมเม็ดล่างและปล่อยกระดุมเม็ดบนเป็นอิสระ เผยความสวยงามของเสื้อด้านใน เมื่อก่อนเราอาจมองว่าเสื้อเชิ้ต เนกไท แม้แต่เสื้อโปโล หรือเสื้อยืดเป็นองค์ประกอบรองเสริมให้สูทดูยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่สำหรับ Kamoshita ความกลมกล่อมของทั้งชุดคือคำตอบ ถึงจะแหวกขนบปฏิบัติเล็กน้อยแต่ก็ออกมาดูดีไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ และเขาเน้นย้ำอีกเสมอว่าสูทไม่จำเป็นต้องสวมคู่กับเนกไทอย่างเดียว “ความยืดหยุ่นสำคัญ การเรียนรู้ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ก็สำคัญ ผมชอบปรับเปลี่ยนตัวเองในขณะที่ยังรักษาความคลาสสิกไว้อยู่” คติประจำใจด้านแฟชั่นของสไตล์ไอคอน
สไตล์ของ Kamoshita ไม่ใช่แค่สูทนะครับ แต่ยังมีแจ๊คเก็ตกันลม เสื้อยืด เสื้อคอเต่า กางเกงผ้าลินินทรงลำลอง และกางเกงยีนส์ ทั้งหมดถูกหยิบมามิกซ์แอนด์แมตช์จนเป็นสไตล์อันน่าจดจำ ในบางวันเราอาจจะเห็น Yasuto ใส่รองเท้า Alden แมตช์กับสูท นอกจากนี้ เรายังจะเห็น Kamoshita ใส่รองเท้า Belgian Loafers ของ United Arrows และ Baudoin and Lange อยู่บ่อยครั้ง และนำมาแมตซ์กับสูทสไตล์อิตาเลียน เขาไม่กลัวที่จะเลือกสนุกกับสีชนสี ลายชนลาย และเนื้อผ้าใหม่ๆ เขาคือคนที่สามารถเปิดมิติเรื่องเสื้อสูทกระดุม 2 แถวไม่จำเป็นต้องเนี้ยบกริบ สามารถใส่ลำลองได้ขึ้นอยู่กับสี เนื้อผ้า และการแมตช์ออกมาเป็นลุค ถ้าจะให้นิยาม Kamoshita เขาคงเหมือนชายผู้มีรากฐานมั่นคงแต่พร้อมลื่นไหลไปกับสิ่งใหม่ได้เสมอโดยไม่ละทิ้งตัวตน ผู้ใส่ใจขนบธรรมเนียมแต่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อความสนุก ด้วยเรื่องทั้งหมดทั้งมวลทำให้เขาถูกบันทึกภาพโดย Scott Schuman แห่ง The Sartorialist ความแตกต่างโดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวยิ่งทวีความมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากภาพของ Scott ในวันนั้น เขาก็ปรากฏอยู่ในภาพสตรีตสไตล์แฟชั่นมากมายจากหลายงานทั่วโลก เขาคือสไตล์ไอคอนของฝั่งญี่ปุ่นอย่างไร้ข้อกังขา เพราะนี่คือผู้รักษาและสร้างแฟชั่นบุรุษในเวลาเดียวกัน “Yasuto Kamoshita”
คอยติดตามความรู้ที่น่าสนใจจากหัวใจเหล่าสุภาพบุรุษ กับ The Decorum Tribune ได้ในตอนหน้า หากท่านใดสนใจสินค้าคุณภาพในสไตล์แบบ Yasuto Kamoshita สามารถเข้ามาลองและปรึกษาได้ที่ The Decorum หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ Online Shop

Author: Nattanam Waiyahong