• Free worldwide shipping on order over ฿20,000 with code: 20KFREESHIP

“ผูกเนกไทแบบนี้ผิด” หาคำตอบเรื่องที่มาการผูกเนกไทแบบฉีกกฎที่กลายเป็นปรากฏการณ์ความนิยมฉบับอิตาเลียน

การฉีกกรอบธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมหรือกฎระเบียบการแต่งกายของสุภาพบุรุษที่คุ้นชิน คือสิ่งที่ท้ายสำหรับสุภาพบุรุษที่ชื่นชอบการแต่งกายฉบับคลาสสิกใช่ไหมล่ะครับ รายละเอียดทุกส่วนต้องเนี้ยบประณีตตั้งแต่หัวจรดเท้า ลูกเล่นบางอย่างอาจเป็นที่นิยมและนำมาสู่การสร้างความแปลกใหม่จนบางครั้งมันอาจจะไปขัดกับธรรมเนียมดั้งเดิม ทว่ามันกลับมีนิยามเฉพาะตัวและกลายเป็นเสน่ห์ที่สุภาพบุรุษหลายคนถวิลหา วันนี้ The Decorum ของเราจะพาออกนอกกรอบไปกับเรื่องความยาวเนกไทที่สร้างความฉงนงุนงงเพราะขัดกับกฎความถูกต้องที่หลายคนอาจเคยศึกษามาครับ

สำหรับเรื่องนี้เราจะเจาะประเด็นไปที่การผูกเนกไทและความสมดุลเรื่องความยาวครับ ปัจจุบันหลายคนศึกษาธรรมเนียมการปฏิบัติด้านแฟชั่นจากตำราคลาสสิกเป็นส่วนใหญ่ใช่ไหมครับ และแน่นอนว่าตำราทั้งหลายต่างแนะนำว่าควรผูกเนกไทไม่ว่าจะปมแบบใดให้ความยาวของเส้นด้านหลังมีความยาวไม่เกินด้านหน้า และสามารถสอดเข้ากับช่องเก็บสายด้านหลังได้อย่างแนบเนียน ซึ่งกฎระเบียบข้อนี้ถูกยึดถือและปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ทว่าสำหรับโลกยุคปัจจุบันที่สูทสไตล์อิตาเลียนมีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่สุภาพบุรุษสายซาร์ทอเรียลในประเทศไทย วิธีการผูกเนกไทที่แอบซ่อนความขบถจึงถูกพูดถึงและปฏิบัติตามต่อกันมากขึ้นครับ

จุดเริ่มต้นของสไตล์การผูกเนกไทแบบนี้ไม่ได้มีหมุดบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนนักครับ แต่คาดว่าจะเริ่มเป็นที่นิยมและมีอิทธิพลอย่างมากในช่วงยุคที่ Gianni Agnelli สไตล์ไอคอนชาวอิตาเลียนเริ่มฉีกกฎดั้งเดิมและสร้างสไตล์ที่ซ่อนความขบถอย่างมีเอกลักษณ์ คำศัพท์ “Sprezzatura” ถูกนิยามถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความหมายที่หมายถึงความเป็นธรรมชาติและไม่ต้องพยายาม คล้ายคลึงกับศัพท์แฟชั่นสากลว่า “Effortless” แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ตรงจุดนี้เองที่ทำให้สุภาพบุรุษฟากตะวันตกเริ่มลองก้าวออกนอกกรอบและสรรสร้างลุคแฟชั่นเฉพาะตัว เริ่มจากการแหกกฎเล็กๆ น้อยๆ จนสร้างเอกลักษณ์ด้านแฟชั่นของตนเองครับ อย่าง Kamoshita สไตล์ไอคอนชาวญี่ปุ่นเองก็นำเสนอการกลัดกระดุมเม็ดล่างด้วยความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้อง แต่มีบทบัญญัติด้านแฟชั่นในรูปแบบของตัวเองเช่นกันครับ

การผูกเนกไทแบบนี้ถือเป็นทางเลือกในการนำเสนอตัวตนอันโดดเด่น วิถีสไตล์แบบชาวอิตาเลียนที่เน้นย้ำความสบายและเป็นธรรมชาติมากกว่ากฎระเบียบแบบดั้งเดิมแผ่อิทธิพลไปอย่างรวดเร็ว การผูกเนกไทโดยไม่ได้จำกัดเรื่องความยาว 2 ส่วนให้พอดีกันแบบพยายามมากเกินไปเริ่มถูกพูดถึงอย่างหนาหู และสุภาพบุรุษหลายคนก็พร้อมก้าวออกนอกกฎเกณฑ์นี้ตาม Mr.Agnelli ไปติดๆ ส่งผลถึงอิทธิพลในโลกยุคปัจจุบันที่การผูกเนกไทแบบนี้เป็นสัญลักษณ์ของแฟชั่นสไตล์อิตาเลียนที่สะท้อนรูปแบบแฟชั่นอันผูกโยงกับศัพท์คำว่า “Sprezzatura” และความขบถที่พอเหมาะพอดีครับ

“จะแหกกฎต้องเข้าใจกฎอย่างดีเสียก่อน” คำกล่าวนี้เป็นจริงอย่างที่สุดครับ แน่นอนว่าเหล่าสไตล์ไอคอนเข้าใจหลักการการสวมสูทผูกไทเป็นอย่างดี แต่พวกเขาเลือกรายละเอียดและองค์ประกอบของลุคเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างพื้นที่ด้านความสร้างสรรค์และสะท้อนความเป็นตัวเอง ตัวตนความอิสระและเป็นธรรมชาติถูกสะท้อนออกมาผ่านการก้าวออกจากกรอบดั้งเดิมด้วยกิมมิกเพียงไม่กี่จุด การผูกเนกไทคือหนึ่งในนั้น หากถามว่าผิดธรรมเนียมดั้งเดิมไหม คงต้องตอบว่าผิดครับ ทว่าเมื่อลองพิจารณาดูแล้วการสร้างลุคที่แอบซ่อนความขบถแบบนี้แสดงถึงพื้นที่ความสร้างสรรค์ที่มีอิทธิพล ซึ่งสุภาพบุรุษทุกคนที่สนใจจะเริ่มตั้งคำถามและเข้าใจกฎดั้งเดิมเสียก่อน เท่ากับว่าการผูกเนกไทแบบนี้ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่คือความตั้งใจที่จะลองค้นหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อตามหาสไตล์แฟชั่นที่ถูกรสนิยม บทเรียนนี้สอนได้อย่างชัดเจนตามวลีที่กล่าวไว้ข้างต้นจริงๆ ครับ

หากใครสนใจเกี่ยวกับแฟชั่นของสุภาพบุรุษฉบับคลาสสิกแบบนี้ สามารถติดต่อสอบถามกับเราได้ผ่านทุกช่องทางครับ อย่าลืมติดตามความรู้ที่น่าสนใจจากหัวใจเหล่าสุภาพบุรุษกับ The Decorum Tribune เพิ่มเติมได้ในตอนหน้า แล้วพบกันครับ